ชุมชนบ้านบาตร

วัฒนธรรมที่กำลัง....สูญหาย อารยธรรมที่ขาดคน...สืบทอด







การทำบุญตักบาตรเป็นประเพณีที่คนไทยนับถือศาสนาพุทธทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน กลายเป็นภาพชินตาที่คนไทยไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น วัยไหนๆก็ทำบุญตักบาตรกันทั้งนั้น

บาตรพระถือเป็นหนึ่งในอัฐบริขาร บาตร ภาชนะใส่อาหารสำหรับพระภิกษุสามเณร ถือว่าเป็นของใช้ที่มีความสำคัญสำหรับสงฆ์เป็นอย่างมาก และ เป็นหนึ่งในอัฐบริขาร 8 อย่าง ที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย ได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง), จีวร (ผ้าห่ม), สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า), ประคดเอว, บาตร, มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ, เข็ม และกระบอกกรองน้ำ
ซึ่งตามหลักพระวินัยแล้วบาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิดเท่านั้นคือ ‘บาตรดินเผา’ และ ‘บาตรเหล็กรมดำ’ โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ วัดบางแห่งจึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่อง จากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรนั้นในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน
วันนี้ดิฉันจะพาทุกคนไปดูเส้นทางกว่าจะเป็น “บาตรพระ” ที่ได้ใช้งานกันมีความเป็นมาและวิธีการทำอย่างไรบ้าง
ประวัติแห่งชุมชนบ้านบาตร ... วันวานที่บ้านบาตร
บ้านบาตรเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่2ในปี พ.ศ. 2310 แล้ว ชาวบ้านบาตรก็ต้องอพยพหลบหนี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานี ชาวบ้านบาตรจึงมาสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณที่เป็นชุมชนอยู่ในปัจจุบันนี้
ส่วนอีกกระแสหนึ่งก็ว่า เดิมนั้นชาวบ้านบาตรเป็นชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาอยู่อาศัยบริเวณเกาะเขมร ซึ่งเป็นบริเวณกักกันชาวเขมร รัชกาลที่3 ทรงเห็นว่า ชาวเขมรมีฝีมือในการทำบาตรจึงให้การสนับสนุน
ในสมัยก่อนการทำบาตรที่นี่ถือว่าเป็นการทำบาตรด้วยมือแห่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านยึดอาชีพการทำบาตรเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านจะนำบาตรที่ผลิตได้ไปส่งขายที่สำเพ็งและย่านเสาชิงช้า ขายได้ใบละไม่ถึงบาท การทำบาตรของชาวบ้านมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ จนกระทั่งสามารถส่งไปขายยังจังหวัดต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง การรวมกลุ่มของชาวบ้านบาตร นอกจากความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นญาติพี่น้องกัน สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ก็เป็นตัวกำหนดให้ชาวบ้านต้องอยู่ในกลุ่มของตน ด้วยมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีก บรรพบุรุษของชาวบ้านจึงมักจะถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำบาตรให้ลูกหลาน การถ่ายทอดวิชาความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งให้ได้วิชาความรู้นั้นในการประกอบอาชีพกันต่อๆไปถือเป็นขนบธรรมเนียมไทยอย่างหนึ่งที่มีมาช้านานแล้ว
บ้านใกล้เรือนเคียง
บริเวณใกล้เคียงกับบ้านบาตรยังมี ชุมชนบ้านดอกไม้ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านบาตร เป็นแหล่งทำดอกไม้ไฟ ใครที่จัดงานสำคัญต้องใช้ดอกไม้ไฟก็ต้องมาสั่งทำที่นี่ ปัจจุบันมีชาวบ้านที่ยังคงยึดอาชีพขายดอกไม้ไฟอยู่บ้าง แต่ก็มีเพียงไม่กี่ราย ชุมชนบ้านสาย อยู่ทางทิศเหนือของบ้านบาตรตรงข้ามวัดเทพธิดาราม เป็นแหล่งทำสายรัดประคด (ผ้าคาดเอวสำหรับพระภิกษุ) ชาวบ้านมักเรียกว่า สายรัดเอว สายรัดประคดที่นี่ทำด้วยไหมฝีมือประณีตมาก
นอกจากสายรัดประคดยังทำถุงตะเคียวสำหรับหุ้มบาตรพระเพื่อส่งตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ย่านเสาชิงช้า เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันการทำสายรัดประคดด้วยการถักทอที่บ้านสายเหลืออยู่เพียงรายเดียวเท่านั้น สาเหตุที่การทำสายรัดประคดที่บ้านสายต้องลดน้อยลง เนื่องมาจากมีการผลิตสายรัดประคดจากโรงงานออกมาจำหน่ายด้วยราคาที่ถูกกว่า
นอกจากบ้านสาย บ้านดอกไม้ ในบริเวณใกล้กับวัดสระเกศภูเขาทอง เป็นแหล่งที่ทำเฟอร์นิเจอร์จำพวกวงกบประตูหน้าต่าง ชาวบ้านบาตรได้อาศัยเศษไม้สักจากร้านเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นมาเผาถ่านเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำบาตร ชาวบ้านจะใช้เฉพาะถ่านจากไม้สักเท่านั้น
ประวัติบาตรพระ
ตามพุทธบัญญัติซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในพระวินัยปิฏกมหาวรรค ได้กล่าวถึงที่มาของบ้านบาตร ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขณะประทับเสวยวิมุตติสุขภายใต้ต้นเกตุ
ต่อมาจึงได้ทรงอนุญาตให้ใช้บาตรได้ 2 ชนิด คือ บาตรดินเผา และบาตรเหล็ก สำหรับบาตรเหล็กมีจำนวนน้อย นอกจากนี้ยังทรงมีพุทธบัญญัติห้ามมิให้ใช้ของอื่นแทนบาตร เช่น กระทะดิน กะโหลก น้ำเต้า กะโหลกหัวผี มาทำบาตร ส่วนบาตรที่ห้ามใช้ในบาลียังระบุไว้ถึง 11 ชนิด ได้แก่ บาตรทอง เงิน แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วผลึก แก้วหุง ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก สังกะสี และบาตรไม้ ส่วนบาตรดินเผามักจะไม่คงทนเหมือนบาตรเหล็กจึงไม่ค่อยมีให้เห็นนัก
บาตรที่ผลิตจากบ้านบาตรแต่ละใบจะประกอบด้วยเหล็ก8ชิ้น จึงมีรอยตะเข็บ รอยเชื่อมต่อให้เห็น ก่อนที่จะทำให้เรียบร้อย เมื่อทำเสร็จเป็นบาตรแล้ว จะมองไม่เห็นรอยเชื่อมต่อแลเห็นเป็นเนื้อเดียวกันหมด
วิธีทำบาตรอย่างคร่าวๆ นั้น ขั้นตอนแรกต้องมีเหล็กที่ใช้ทำปากบาตร (ขอบบาตร) ส่วนตัวบาตรใช้เหล็กแผ่นตัดออกมาเป็นชิ้นตามความต้องการ นำเหล็กมาโค้งตามรูปบาตรแล้วจึงประกอบเข้ากับบาตร โดยใช้เครื่องมือแม่แบบเรียกว่า ลูกกะล่อน(ลักษณะเป็นแท่งเหล็กตันสวมเข้ากับแป๊ปเหล็ก) แล้วใช้ค้อนตีย้ำตะเข็บ ขั้นตอนนี้เรียกว่า ติดกง หลังจากนั้นจึงนำแผ่นเหล็กที่ตัดไว้มาติดให้ครบโครงบาตร นำมาประสานให้สนิทด้วยการใช้ทองแดงป่นผสมกับน้ำประสานทองทาบริเวณที่มีรอยตะเข็บ แต่ก่อนทาต้องนำบาตรไปชุบน้ำให้เปียกเสียก่อนเพื่อให้น้ำประสานติดสนิท แล้วจึงนำบาตรไปเป่าแล่นเพื่อให้ทองแดงกับน้ำประสานซึมซาบบริเวณที่เชื่อมให้เป็นเนื้อเดียวกันจากนั้นจึงนำมาตียุบมุมที่เกินเพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ การตีไม่ต้องใช้แรงมากแต่ต้องอาศัยความชำนาญตีให้สม่ำเสมอจะตีซ้ำที่เดียวกันไม่ได้เพราะจะทำให้บาตรเสียรูปทรง แล้วนำมาตะไบแต่งบาตรให้เรียบร้อย นำมาเผาเพื่อไม่ให้เกิดสนิม พ่อปู่ครูบาตร จะเห็นได้ว่าการทำบาตรมิใช่ทำกันอย่างง่ายๆช่างที่ทำบาตรในบ้านบาตรเชื่อว่า มีครูประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ที่เรียกว่า พ่อปู่หรือปู่ครู ชาวบ้านเชื่อกันว่า พ่อปู่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีความรู้เรื่องการทำบาตรเป็นอย่างดีตั้งแต่ครั้งโบราณชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือสืบทอดกันมาและได้ตั้งศาลพ่อปู่ไว้กลางหมู่บ้าน เพื่อสักการะบูชา ศาลนี้สามารถปกปักรักษาให้ทุกคนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ทุกๆปี จะมีพิธีไหว้ครูที่ศาลพ่อปู่ในวันพฤหัสบดี ช่วงสงกรานต์เดือนเมษายน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการทำบาตร

การประกอบอาชีพ
แม้ว่าในช่วงหลังชาวบ้านหลายครอบครัวจะเลิกอาชีพทำบาตรไปแล้ว แต่ก็ยังมาร่วมพีธีไหว้ครูอยู่ไม่ได้เว้น ด้วยมีความเชื่อว่าพ่อปู่มีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มครองภยันตรายทั้งหลายได้ บางรายก็ไปบนบานศาลกล่าวขอในสิ่งที่ต้องการ เมื่อได้ตามประสงค์แล้วก็นำของไปถวายที่ศาลพ่อปู่ จากบาตรหัตถกรรมถึงบาตรปั๊ม
สาเหตุใหญ่ที่ทำให้บาตรที่ทำด้วยฝีมือประณีตลดน้อยลงเรื่อยๆเนื่องมาจากมีบาตรปั๊มเข้ามาแทน เมื่อราวปี พ.ศ. 2513 มีการตั้งโรงงานบาตรปั๊ม(บาตรที่ทำด้วยเครื่องจักร) หลายโรง ที่สำคัญคือจำหน่ายราคาถูกกว่า อันที่จริงบาตรปั๊มน่าจะเป็นบาตรที่ไม่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เพราะเคยมีการกำหนดไว้ว่า บาตรทุกใบจะต้องมีรอยต่อตะเข็บเหมือนอย่างจีวร จะใช้แผ่นเดียวกันตลอดไม่ได้ แต่บาตรปั๊ม ผลิตออกมาขายเป็นโลหะแผ่นเดียวกันหมด บาตรปั๊มมีราคาถูกกว่าบาตรที่ทำด้วยมือครึ่งต่อครึ่ง เพราะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากเท่าบาตรที่ทำด้วยมือ
แต่ก็มีข้อเสียคือ เป็นสนิมได้ง่าย เนื่องจากไม่ได้ผ่านการชุบรมดำให้ถูกวิธีและไม่สวยงามด้วยฝีมือประณีตเหมือนบาตรที่ทำด้วยมือ
ทุกวันนี้บาตรที่ทำจากบ้านบาตรยังคงเป็นที่นิยมอยู่พอสมควร

สำหรับผู้ที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของงานฝีมือ ยืนยันได้จากการที่มีคนมาสั่งทำบาตรอยู่มิได้ขาด ผู้ที่มาสั่งทำมีทั้งพระและฆราวาส ชาวต่างชาติซึ่งมากับทัวร์หรือบางคนก็ดั้นด้นเข้ามาเอง ซึ่งมีมาอยู่เรื่อยๆ สังเกตได้ว่า ในระยะหลังผู้ที่มาสั่งทำบาตรจะเป็นคนที่ต้องการบาตรไปใช้เอง หรือซื้อเป็นของที่ระลึกไปฝากผู้อื่น ไม่ค่อยมีพ่อค้าคนกลางไปซื้อแล้วขายต่อ
ดังนั้นตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ทั่วไปจึงมีแต่เพียงบาตรปั๊มเท่านั้น
ชาวบ้านบาตรผู้ซึ่งผลิตบาตรด้วยฝีมือประณีต ยังคงทวนกระแสสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มั่นคงนัก เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ในอนาคตข้างหน้าที่บ้านบาตร จะยังคงมีการผลิตบาตรให้เห็นอยู่อีกหรือไม่ หรือจะเหลือเพียงแต่ชื่อเช่นเดียวกับถิ่นฐานย่านเก่าต่างๆของกรุงเทพฯ เท่านั้น

ขั้นตอน การทำบาตรพระแบบโบราณ ประณีตศิลป์ที่รังสรรค์จากความศรัทธา
เครื่องมือที่ใช้ในการทำบาตร

- ค้อนขนาดต่างๆ ใช้สำหรับตีเหล็ก และตีบาตรให้เรียบ
- คีม ใช้สำหรับหักเหล็ก (หักฟันปลา)
- แท่งเหล็ก ใช้สำหรับขีดกะเหล็ก
- ทั่งเหล็ก ใช้สำหรับรองในการทุบเหล็กและตีเหล็ก
- กรรไกร ใช้สำหรับการจักเหล็ก
- ค้อนลาย ใช้สำหรับทำลาย
- ทั่งลาย ใช้สำหรับเป็นที่รองรับส่วนโค้งของขอบบาตรเพื่อทำลายบาตร
- กรรไกรญาณ ใช้สำหรับตัดแผ่นเหล็ก
- ลูกกะล่อนและตัวลูกกะล่อนขนาดต่างๆ ใช้สำหรับรองรับในการทำบาตรและตีบาตร ลูกกะล่อนที่ใช้มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับขั้นตอนว่าต้องการความละเอียดมากน้อยเพียงไร เช่น การตีบาตร ก็ต้องใช้ลูกกะล่อนที่เรียบละเอียดมากที่สุด
เตา ใช้สำหรับเป่าแล่น



การทำบาตร
ในชุมชนบ้านบาตรนี้ได้มีการทำบาตร แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ทำบาตรใหม่
2. การนำบาตรเก่ามาปรับปรุงสภาพ
3. การซ่อมแซมบาตร
ซึ่งจะได้กล่าวถึงกรรมวิธีดังนี้

การทำบาตรใหม่
บาตรพระใหม่ มีขั้นตอนการทำดังต่อไปนี้
ตีขอบ การทำปากบาตร ใช้เหล็กหนา 1 หุน กว้าง 6 หุน ความยาวของเหล็กขึ้นอยู่กับขนาดของบาตร
กะเหล็ก เป็นการวัดกะขนาดของเหล็กที่นำมาต่อเป็นกง
ตัดเหล็ก ตัดแผ่นให้ได้รูปกากบาทตามที่วัดได้
เว้าเหล็ก เป็นการตัดส่วนปลายของแผ่นเหล็กรูปกากบาทให้เว้าลงไป เพื่อให้เข้าปากบาตรได้พอดีกัน
จักเหล็ก ใช้กรรไกรจักตรงส่วนเว้าของแผ่นเหล็กรูปกากบาททั้ง 4 ด้าน แล้วทุบให้เรียบ
งอเหล็ก หักที่จักไว้ให้เป็นแบบสลับฟันปลาเพื่อจะนำไปประกอบเข้ากับปากบาตร
หักเหล็ก หักที่จักไว้ให้เป็นแบบสลับฟันปลาเพื่อจะนำไปประกอบเข้าปากบาตร
ติดกง นำแผ่นเหล็กรูปกากบาทที่โค้งและหักสลับฟันปลาแล้วมาประกอบเข้าปากบาตร ใช้ค้อนทุบฟันปลาให้ประกบปากบาตร
กะหน้าวัว นำแผ่นเหล็กมาวัดกะขนาดเพื่อประกอบเข้ากับกง
ตัดหน้าวัว ตัดแผ่นเหล็กตามที่วัดไว้และต้องตัดเผื่อไว้สำหรับจักฟันด้วย ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร
จักหน้าวัว ใช้กรรไกรจักให้รอบ เสร็จแล้วทุบให้เรียบ
โค้งหน้าวัว ตัดหน้าวัวให้โค้ง เพื่อจะนำไปประกอบกับกงให้ได้รูปทรงของบาตร
หักหน้าวัว ง้างเหล็กที่จักให้ได้ลักษณะสลับฟันปลา
เข้าหน้าวัว นำหน้าวัวไปประกอบเข้ากับกงจนเป็นรูปบาตร เรียกว่า “บาตรหน้าวัว”
หยอดบาตร เป็นการโรยผงประสานทองลงตามตะเข็บด้านในขอบบาตร ก่อนโรยต้องนำบาตรไปแช่น้ำก่อน พอบาตรสะเด็ดน้ำจึงโรยผงประสานทองลงไปทุกตะเข็บ เหตูที่ต้องนำบาตรไปแช่น้ำก่อนก็เพื่อให้ผงประสานทองได้เกาะติดตะเข็บได้
แล่นบาตร (เป่าแล่น) เป็นการทำให้ผงประสานทองละลายออกมาเชื่อมตามตะเข็บ โดยใช้ไฟที่มีความร้อนสูงมาก
ยุบมุมบาตร เป็นการทุบตามตะเข็บและเป็นการตรวจสอบด้วยว่า ทุกตะเข็บเชื่อมติดกันดีหรือยัง ถ้ายังมีปัญหาก็ต้องนำไปเป่าแล่นซ่อมอีกที
ลายบาตร ใช้ค้อนลายทุบบาตรบนทั่งลายบาตร ให้ได้รูปทรงของบาตร แต่จะยังไม่เรียบ จาก นั้นก็นำไปแช่น้ำกรด ให้กรดขัดขี้เหล็กออกให้หมด ก่อนที่จะนำไปตีให้เรียบ น้ำกรดที่ใช้จะผสม น้ำ 1 ถังต่อกรดประมาณ ½ ขวด
ตีบาตร นำบาตรมาตีให้เรียบ ช่วงเรียกว่าตีเรียงเม็ด ตีให้เรียบมากขึ้น
ตะไบบาตร นำบาตรที่ดีแล้วมาตะไบให้เรียบร้อย จะได้เป็นบาตรขาว
ระบมบาตร เป็นการนำบาตรขาวไปอบด้วยความร้อนสูง จนเหล็กสุกและบาตรที่ได้จากการระบมจะมีสีค่อนข้างดำและด้าน
รมดำ เป็นการนำบาตรไปทาด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมสำหรับการรมดำโดยเฉพาะ พอแห้งแล้ว นำไปตั้งไฟจนบาตรกลายเป็นสีดำ บาตรที่ได้จากการรมดำจะมีสีดำวาว
เผาเขียว เป็นการเผาบาตรด้วยความร้อนสูง ให้เหล็กหลั่งสารออกมาเคลือบผิวบาตร บาตรที่มีได้จะมีลักษณะเป็นมันวาว
เคลือบสี เป็นวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่มาทำจะมีลักษณะเหมือนเคลือบสีรถยนต์

ขั้นตอนที่ 2 – 14 เรียกว่า “การต่อบาตร”
1. การทำปากบาตร (ตีขอบ) ใช้เหล็กเส้นทำ ขนาดของเหล็กที่ใช้ในการทำปากบาตร หนา 1 หุน กว้าง 6 หุน ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของบาตร เช่น
บาตรขนาด 7 นิ้ว ใช้เหล็กยาวประมาณ 22 นิ้ว
บาตรขนาด 8 นิ้ว ใช้เหล็กยาวประมาณ 26 นิ้ว
บาตรขนาด 81/2 นิ้ว ใช้เหล็กยาวประมาณ 27 ½ นิ้ว
บาตรขนาด 9 นิ้ว ใช้เหล็กยาวประมาณ 29 นิ้ว
เหล็กสำหรับทำบาตร
1.ตีเหล็กให้บางด้านหนึ่ง
โค้งและเชื่อมให้เป็นปากบาตร โดยให้ด้านที่บางอยู่ล่าง
2. การกะเหล็ก การกะเหล็กนั้นเป็นการขีดวัดขนาดของเหล็กที่จะนำมาต่อเป็นกง ความยาวประมาณจะเท่ากับปากบาตร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปทรงของบาตรด้วย ในสมัยก่อนใช้ดินสอหินที่ใช้เขียนกระดาน แต่ในปัจจุบันช่างทำบาตรนิยมใช้เหล็กขีดเพราะมีความแน่นอนกว่า
3. ตัดแผ่นเหล็กด้วยกรรไกรญวณให้กากบาทตามที่วัดไว้
ลักษณะของเหล็กที่ตัดเสร็จแล้ว
4. การเว้าเหล็ก เป็นการตัดส่วนปลายของแผ่นรูปกากบาทให้เว้าลงไปทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้เข้ากับปากบาตรได้พอดี ก่อนเว้าต้องงอเหล็กตรงปลายแต่ล่ะด้านชิ้นเล็กน้อย เพื่อจะได้ไม่สะดุดกับกรรไกรในขณะที่ตัด เมื่อเว้าเสร็จจึงทุบให้เรียบร้อยเหมือนเดิม
5. การจักเหล็ก ใช้กรรไกรตรงส่วนเว้าของแผ่นเหล็กรูปกากบาททั้ง 4 ด้าน แล้วทุบให้เรียบ
จักเสร็จแล้วทุบฟันให้เรียบ
6. การงอเหล็ก เป็นการดัดเหล็กที่จักแล้วให้โค้งได้ลักษณะของบาตร
7. การหักเหล็ก หักเหล็กที่จักไว้ให้เป็นสลับฟันปลาด้วยคีมคีบเหล็กหรือเหล็กแหนบเพื่อจะนำไปประกอบเข้ากับปากบาตร
8. การติดกง นำเหล็กโค้งและหักสลับฟันปลาแล้วมาประกอบเข้ากับขอบบาตร โดยการใช้ค้อนทุบพับเหล็กที่ปลายกงให้งับกับปากบาตร
9. การกะหน้าวัว นำแผ่นเหล็กม้วนกะขนาดเพื่อประกอบกับกง
10. การตัดหน้าวัวตัดแผ่นเหล็กที่วัดไว้และต้องตัดเผื่อไว้สำหรับจักฟันประมาณ 2 มิลลิเมตรหน้าวัวที่ตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว
11. การจักหน้าวัวใช้กรรไกรจักโดยรอบ เสร็จแล้วทุบด้วยค้อนให้เรียบ
12. การโค้งหน้าวัวตัดหน้าวัวให้โค้งเพื่อจะนำไปประกอบกงให้ได้รูปทรงของบาตร
13. การตัดหน้าวัว ง้างเหล็กที่จักให้ได้ลักษณะสลับฟันปลา
14. การเข้าหน้าวัวนำเหล็กหน้าวัวประกอบเข้ากับกงให้ครบทั้ง 4 ด้าน จนเป็นรูปบาตร แล้วใช้ค้อนทุบบนลูกกะล่อน เข้าหน้าวัวเสร็จทั้ง 4 ด้าน ก็จะได้บาตรหน้าวัว
15. การหลอดบาตร (การโรยผงประสานทอง)ผงประสานทอง เป็นของผสมระหว่างผงบอแรกซ์และผงทองแดง การโรยผงประสานทองจะโรยลงตามตะเข็บด้านในของบาตร ก่อนทำการหยอดบาตร ต้องนำบาตรไปแช่น้ำก่อน พอสะเด็ดน้ำจึงโรยผงประสานทองลงไป ถ้าบาตรแห้งเสียก่อนก็ต้องสลัดน้ำใส่อีก มือที่จับผงประสานทองต้องแห้ง การโรยต้องโรยให้สม่ำเสมอ เป็นเส้นเล็กและนูนและต้องระวังไม่ให้ผงประสานทองเลอะเทอะส่วนอื่น เพื่อนเวลาเป่าแล่นผงประสานทองจะลามติดผิวบาตรทำให้บาตรไม่เรียบได้
16. การเป่าแล่น (แล่นบาตร)การเป่าแล่นบาตรต้องใช้ไฟแรงสูง ใช้ไม้สักเป็นเชื้อเพลิงเพราะให้ไฟแรง ก่อนเป่าแล่นต้องใช้ไฟอ่อน ๆ เผาด้านในของบาตรก่อนเพื่อให้ผงประสานทองละลายลงไปเกาะในตะเข็บ โดยใช้ขี้กบหรือกระดาษเป็นเชื้อเพลิง จากนั้นคล่ำบาตรลงกลางเตา (ส่วนที่ให้ไฟร้อนสูงสุด) เผาจนเหล็กแดง แล้วใช้ไม้เขาควายเขี่ยให้บาตรหงายขึ้น กลับให้ทุกด้านของบาตรได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ผงทองแดงและน้ำประสานทองละลายเชื่อมเนื้อเหล็กให้เป็นเนื้อเดียวกัน
2. คว่ำบาตรลงกลางเตา เผาจนเหลืองแดง แล้วใช้ไม้เขาควายเขี่ยให้บาตรหงายขึ้นกลับให้ทุกด้านของบาตรได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง
ลักษณะของเตาที่ใช้ในการเป่าแล่น
เตาที่ใช้ในการเป่าแล่นจะก่อขึ้นด้วยอิฐแดงประกอบกับเหล็กที่ใช้เป็นท่อลมท่อส่วนที่อยู่ด้านในเรียกว่า “จมูกเตา” ด้านในของเตาจะฉาบด้วยดินเหนียวที่บดผสมกับทรายส่วนที่เป็นจมูกเตาต้องฉาบให้สนิทเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันท่อไม่ให้ละลาย แต่ต้องระวังไม่ให้ไปขวางปากท่อ แม้แต่นิดเดียว เพราะจะมีผลต่อทิศทางลมที่เป่าเข้าไป
เตาด้านที่เป่าลมเข้าไปต้องยกสูงขึ้นมากกว่าส่วนอื่น เพื่อป้องกันลมที่ตีกลับไฟจะได้อยู่กลางเตาพอดี จมูกเตาด้านใน ต้องเฉียงลงเล็กน้อยเพื่อบังคับทิศทางลมให้อยู่กลางเตาพอดี เตาที่ดีที่สุดจะให้ไฟที่ร้อนที่สุดอยู่ตรงกลางเตาพอดี
เครื่องเป่าลมแต่เดิมจะใช้ลูกสูบ สูบลมให้เป่าเข้าไม่ในเตา แต่ปัจจุบันช่างจะใช้เครื่องปั่นลมต่อเข้าไปแทน เพื่อให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
17. ยุบมุมบาตร
เมื่อบาตรที่เป่าแล่นเสร็จและเย็นลงแล้ว นำมายุบมุมโดยใช้ค้อนตีตามตะเข็บและจะเป็นการตรวจสอบด้วยว่าทุกตะเข็บเชื่อมติดกันดีหรือยัง ถ้ายังก็ต้องนำไปเป่าแล่นซ่อมส่วนที่ยังไม่เชื่อมกันอีกที
18. การลายบาตร
ใช้ค้อนลายทุบบาตรโดยตีผิวบาตรให้ได้รูปทรงที่กลมกลึง ให้ได้รูปทรงบาตรโดยจะตีบน “ทั่งลาย” ทั่งลายจะมีลักษณะเป็นล่องเว้าลงไปเพื่อรองรับส่วนโค้งของบาตร แต่ถ้ายังไม่เรียบต้องนำไปแช่น้ำกรดให้กรดกัดขี้เหล็กออกให้หมด น้ำกรดที่ใช้จะผสมน้ำ 1 ถัง ต่อน้ำกรดประมาณ ½ ขวด
19. การตีบาตร
นำบาตรลายตีตะเข็บให้เรียบร้อยอีกครั้ง โดยใช้ค้อนปอนด์ตีบาตรที่คว่ำบนลูกกะล่อน การตีนี้เรียกว่า “ ตีเรียงเม็ด ”
20. นำบาตรที่ตีแล้วมาตะไบให้เรียบร้อย การตะไบบาตรจะทำบนม้าตะไบ เท้าของช่างด้านหนึ่งจะสอดเข้าในบาตร อีกข้างหนึ่งจะยันบาตรไว้ให้ติดกับหูมาตะไบ เพื่อความมั่นคงของบาตรซึ่งจะช่วยให้ตะใบได้ดี บาตรที่ตะไบเสร็จเรียบร้อยเรียกว่า “บาตรขาว”


เมือแสงแรกของเช้าวันใหม่สาดกระทบใบหน้าบ่งบอกถึงการดิ้นรนของชีวิต หมู่นกกาส่งเสียงร้องผสานบรรเลงเพลงขับร้องตามธรรมชาติอย่างมีความสุข ภาพแรกที่เราเห็นในทุกเช้าคงไม่ต่างอะไรกับวิถีชีวิตตามแบบฉบับของชาวพุทธอย่างเรา การทำบุญตักบาตรถือเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่วันนี้สิ่งที่สืบทอดกันมาเริ่มจางหาย เรื่องของธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ความถูกต้อง จึงทำให้สังคมในวันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป



ฟังเรื่องดีๆของบาตรพระมาพอสมควรแล้วนะคะ ลองมาฟังอีกมุมหนึ่งของบาตรพระที่ทุกคนอาจจะยังไม่รู้กันบ้างดีกว่าคะ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับอาถรรพณ์บาตรแตก ผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่โปรดใช้วิจารณญาณนะคะ
ความเชื่อเรื่องบาตรแตกนั้น อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานนับตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนมากจะปรากฏในภาคกลาง แต่เดิมบาตรพระทำจากดินเผาหรือไม้ เมื่อหล่นเพียงครั้งเดียวก็แตกซะแล้ว ดังนั้นหากเกิดชำรุดหรือมีรอยรั่ว พระสงฆ์จะต้องอุดรูรั่วนั้น และใช้ต่อไปจนกว่าจะมีผู้นำบาตรใหม่มาถวาย
จริงๆแล้วบาตรพระเป็นของสูง เป็นของใช้สำหรับพระสงฆ์องค์เจ้า อย่าว่าแต่บาตรพระเลยคะ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือของใช้ของพระสงฆ์ ไม้ ทราย ก็ไม่ควรนำเข้าบ้านนะคะ
หากบาตรพระเกิดชำรุดหรือแตกขึ้นมาละก็ พระสงฆ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ดูแลบาตร ไม่ให้ไปตกอยู่ในมือของคนที่คิดปองร้ายผู้อื่น ผู้ที่ไม่มีศีลธรรม เพราะอาจจะนำบาตรพระไปใช้ในทางที่มิควร ก่อให้เกิดอาถรรพณ์แก่ผู้ที่ตนมุ่งร้าย
เศษบาตรหรือชิ้นส่วนของบาตรพระแค่ชิ้นเล็กๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอาถรรพณ์ได้ หากมีผู้นำไปซุกไว้ตามใต้ถุนบ้าน สวน ไร่นา หลังคา หรือใต้บันได ผู้คนที่อยู่ในบ้านหลังนั้นจะเกิดความวุ่นวาย แตกแยก เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง
คาถาที่ใช้แก้อาถรรพณ์ นี้มีหลายวิธีด้วยกัน ให้เชิญผู้ที่มีวิชาอาคมมาและเขียนอักขระขอมว่า มะอะอุ ที่เสาเอกของบ้านท่าน อาถรรพณ์ต่างๆของบาตรแตกก็จะเสื่อมไป ส่วนวันที่จะเขียนต้องเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ วันพระเท่านั้นนะคะ

ต่อมาวิธีที่สอง คือ คาถาพระพุทธเจ้าประสานบาตร โดยท่องว่า
“จัต ตา โร ปัต เต ยะ ถา เอโก ตะถา อะ ธิฏ ฐา หิ” ใช้แก้บาตรแตก เมื่อมีใครนำชิ้นส่วนของบาตรแตกมาโยนเข้าในบ้าน บนหลังคาหรือใต้บันไดบ้านนั้นมักจะมีเรื่องร้อน ทะเลาะเบาะแว้งจนทำให้เกิดการแตกแยกระหว่างคนที่อยู่ในบ้านนั้น ให้เสกใส่เทียน 5 เล่ม 4 มุมบ้าน และ กลางบ้าน 7 วัน ให้เริ่มทำพิธีวันเสาร์จะดีที่สุด
และยังมีอีกความเชื่อหนึ่งนะค่ะที่ว่า หากพระสงฆ์บังเอิญทำบาตรหล่นหน้าบ้านใคร บ้านนั้นจะเป็นกาลกินี เจ้าของบ้านจะเกิดอันตราย ต้องนิมนต์พระมายืนสวดหน้าบ้าน อยู่ ๓ วัน ๓ คืน เลยทีเดียวจึงจะแก้เคล็ดได้

เป็นอย่างไรบ้างค่ะ ได้ฟังกันแล้วขนลุกกันบ้างไหมเอ่ย แต่จะเชื่อกันหรือไม่นั้น ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะคะ แต่ดิฉันเชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดีคะ ทำจิตใจของเราให้สงบ บริสุทธิ์โดยไม่คิดปองร้ายใคร และรู้จักให้อภัย
เมื่อเทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตมนุษย์บวกกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่เป็นตัวบีบให้คนที่เคยประกอบอาชีพทำบาตรต้องออกไปทำงานข้างนอกกันหมด จนในตอนนี้เหลือครอบครัวทีทำบาตรขายจริงๆเหลือประมาณ 5 หลังคาเรือนเท่านั้น เนื่องจากถูกโจมตีจากบาตรปั๊มที่ระบาดอยู่ในท้องตลาด

คุณกฤษณา แสงไชย ที่เป็นผู้บุกเบิกให้อาชีพทำบาตรกลับมาอีกครั้งเล่าว่า :

“ ประมาณปี 2507 เริ่มมีบาตรปั๊มออกมาจำหน่ายจึงทำให้ความนิยมในการทำบาตรด้วยมือลดลงคนในชุมชนเริ่มขาดรายได้ คนในชุมชนจึงอพยพไปทำงานข้างนอกกันหมด คนที่ยังทำอยู่ก็คือคนรุ่นเก่าและคาดว่าในอนาคตไม่เกิน 5 ปีคนที่จะสืบสานศิลปะการทำบาตรนี้ก็คงหมดไป”



ศิลปะการทำบาตรคงสูญสิ้นไปหากวันนี้เรายังคงลืมคุณค่าในชิ้นงานอันวิจิตรศิลป์ที่ร้อยเรียงความรักและศรัทธาในพระพุทธศาสนารวมถึงการตั้งใจที่จะอนุรักษ์งานฝีมือชิ้นเก่า หากลูกหลานอย่างเราไม่เห็นคุณค่า สิ่งสำคัญที่ควรอนุรักษ์ก็คงหมดไป .......
สมาชิกกลุ่ม
1.นาย ชวลิต มหาธนานุวงศ์ 4906100001
2.นาย ปริพัตร วงษ์สวัสดิ์ 4906100002
3.นางสาว สุกัญญา คล่องสืบข่าว 4906100007
4.นางสาว จิรฐา มั่นเหมาะ 4906100014
5.นางสาว สุวารี ตันบุญยืน 4906100015
6.นางสาว ชื่นสุมน แซ่โค้ว 4906100026
7.นางสาว สุคนธา ฉ่ำมิ่งขวัญ 4906100028
8นางสาว จุฑามาส ชัยเมือง 4906100040
9.นางสาว วิภา พรแสนศรี 4906100041
10.นางสาว ธนัชชา เพ่งสวัสดิ์ 4906100131

0 ความคิดเห็น:

Deja un comentario

Volver al inicio Volver arriba CommunicationArt_jrutcc. Theme ligneous by pure-essence.net. Bloggerized by Chica Blogger.